กันยายน 2561
กรุณาอธิบายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ BGRIM

กลุ่มบริษัท บี.กริม ดำเนินกิจการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1878 นับเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าที่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่ระบบโทรคมนาคมจนถึงระบบขนส่ง ในแง่องค์กร เรามองหาโอกาสที่จะมา สนับสนุนวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจของเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ในช่วงปี 1990 ที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลในขณะนั้นได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามองว่าธุรกิจนี้มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมของบี.กริม เนื่องด้วยโครงสร้างสัมปทานที่มีอายุ 20-25 ปี และด้วยกำลังการผลิตที่ 130-160 MW ไฟฟ้า 90 MW จะถูกจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 25 ปี และส่วนที่เหลือสามารถจำหน่ายให้กับผู้ใช้งานในอุตสาหกรรม ในขณะนั้น วัตถุประสงค์หลักสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กก็คือการสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมสร้างโรงไฟฟ้าภายในนิคมฯ เอง เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน และด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับ อมตะ ซิตี้ Siemens และ KFW เราจึงได้ก่อตั้งบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ และพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งแรกมูลค่า 5 พันล้านบาท กลยุทธ์ของเราคือการเป็นผู้พัฒนาพลังงานอย่างแท้จริง ตั้งแต่การก่อสร้าง พัฒนา และดำเนินงานโรงไฟฟ้าด้วยตัวเราเองเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องที่ยังคงยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน จุดแข็งประการหนึ่งของเราคือวัฒนธรรม เพราะเรามีมุมมองการทำธุรกิจด้วยความเมตตาและเข้าใจ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากได้ตลอดมา โรงไฟฟ้าแห่งแรกของเราที่อมตะ ซิตี้ ชลบุรีก่อตั้งขึ้นในช่วงวิกฤติทางการเงินในเอเชีย และด้วยประสบการณ์ในการทำธุรกิจ การทำงานเป็นทีมและความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรทางธุรกิจและพันธมิตรทางการเงิน เราจึงสามารถทำโครงการก่อสร้างได้สำเร็จและสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา

โครงสร้างธุรกิจของ BGRIM และแนวโน้มในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ปัจจุบันโรงไฟฟ้า SPP ของ BGRIM มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตที่ติดตั้งแล้ว 1.8 GW และมีจำนวนโรงไฟฟ้ามากที่สุดในอุตสาหกรรมพลังงาน โรงไฟฟ้า SPP ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมีสัดส่วนคิดเป็น 75% ของโรงไฟฟ้าทั้งหมดของเรา ในขณะที่ธุรกิจพลังงานทดแทนมีสัดส่วน 25% และที่เหลือเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งและจัดจำหน่าย กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า SPP คือ 2.2 GW ซึ่งที่ดำเนินการอยู่แล้วมี 1.8 GW ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 15 แห่ง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี 5 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง 5 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี 2 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช 1 แห่ง และยังมีอีก 2 แห่งที่เราซื้อกิจการจาก Sime Darby Energy ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ด้วยความที่เราเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้า จึงเอื้อให้เราซื้อกิจการดังกล่าวได้ เนื่องจากเราสามารถประหยัดจากการผลิตในปริมาณมาก (Economy of Scale) จากการบริหารการขนส่ง ความเข้าใจในปัจจัยเกี่ยวกับเงินกู้ และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในเวลาที่ทันท่วงที ยังผลให้เราสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 80% ของต้นทุนมาจากก๊าซ การซื้อกิจการโรงไฟฟ้าสองแห่งดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เราสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงานเป็นสองเท่าเนื่องด้วยขนาดและขีดความสามารถทางเทคโนโลยี สิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือความสัมพันธ์กับลูกค้า ในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งเราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับลูกค้าแต่เพียงผู้เดียว และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเราในนิคมอุตสาหกรรม เราสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับลูกค้าได้โดยตรง ซึ่งทำให้มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากระแสไฟฟ้าจากภาครัฐ เนื่องจากระยะทางจากต้นกำเนิดไฟฟ้าอยู่ไกล วันนี้เรามีลูกค้า 300 ราย รวมถึงในประเทศไทยและเวียดนาม ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม เช่น Sumitomo, Bridgestone, Denso, Michelin, Colgate-Palmolive และอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน เรามีกำลังการผลิตทั้งหมด 718 MW โดยมี 134 MW ที่ดำเนินการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานขยะอุตสาหกรรม และพลังงานลม โดยรวมแล้วเป็นธุรกิจที่กระจายความเสี่ยงในทางบวกให้กับบริษัทฯ เนื่องจากการใช้พลังงานสำหรับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มใช้พลังงานแบบผสมผสานหลายรูปแบบ

BGRIM มีการขยายธุรกิจทั่วภูมิภาค อยากให้คุณช่วยอัพเดทการพัฒนาโครงการต่างๆ

มีโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญๆ หลายโครงการในเวียดนาม อาทิ การลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งมีการลงนามสนธิสัญญาปารีส นอกจากนั้นเราได้ร่วมลงนามกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 420 MW ซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความตั้งใจที่จะต่อยอดการเติบโตในเวียดนาม ในส่วนของเกาหลีใต้ เราได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ KEPCO เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ระบบสมาร์ท กริด และระบบกักเก็บพลังงาน รัฐบาลเกาหลีใต้เองให้การสนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างมาก และปัจจุบันเราอยู่ในกระบวนการตรวจสอบและวิเคราะห์สถานะของธุรกิจ ในประเทศลาว เรามีโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 20 MW ที่ดำเนินการอยู่ และมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตอีก 15 MW ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ปัจจัยที่ทำให้ BGRIM แตกต่างจากคู่แข่งคืออะไร?

เราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนวางแผน ออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินการ จนกระทั่งถึงหมดสัมปทาน เรามีแผนการเติบโตที่ชัดเจนในแง่กำลังการผลิตถึง 2.9 GW ภายในปี 2022 ดังนั้นจุดแข็งของเราคือทีมวิศวกรและพัฒนาธุรกิจที่มีประสบการณ์ ซึ่งกรรมการผู้จัดการในแต่ละส่วนงานยังคงเป็นคนเดียวกับตอนที่เริ่มต้นตอนแรก ปัจจัยดังกล่าวรวมกับเทคโนโลยีระดับโลก มาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ สภาพคล่องทางการเงินที่ดีและโครงสร้างของเงินทุนที่บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพล้วนสนับสนุนให้เราขยายธุรกิจและรักษาความเป็นเลิศในการดำเนินงานทั่วทั้งภูมิภาค ในเบื้องต้นเรามุ่งเน้นการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งนำไปสู่การมองหาโอกาสในการควบรวมธุรกิจที่น่าสนใจ จากนั้นค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ ด้วยการรวมเอากลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งกระบวนการอย่างแท้จริง และการดำเนินโครงการที่ประเมินมาอย่างรอบคอบ เราสามารถสร้างจุดแข็งด้วยการใช้สัมพันธภาพทางธุรกิจในการมองหาและศึกษาโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

คุณมองการพัฒนาของธุรกิจพลังงานในประเทศไทยและในภูมิภาคอย่างไร?

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายมาก เรายังคงมุ่งมั่นศึกษาเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงานและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ แต่เรายังไม่รีบร้อนลงทุนเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา สิ่งที่เราทำคือทำความเข้าใจในกระบวนการทั้งหมดของระบบพลังงานไฟฟ้าและมุ่งหาเทคโนโลยีที่จะสร้างความมั่นคงให้กับการจ่ายพลังงานให้กับลูกค้าของเรา ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลมีความตั้งใจอยากให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้เป็นสมาร์ทซิตี้ ผลิตไฟฟ้าด้วยการติดแผงโซลาร์บนหลังคา ซึ่งหมายความว่าเราต้องบูรณาการทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซเพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับลูกค้ามีความเสถียรและต่อเนื่อง เราเชื่อว่าแนวคิดเรื่อง Distributed Generation (DG) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสมาร์ทซิตี้ หรือสมาร์ทกริด จะเป็นแนวคิดที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านสายไฟเป็นระยะทางไกลจะเป็นสิ่งที่ค่อยๆ หายไปสำหรับประเทศไทย และเราคาดหวังที่จะเห็นประเทศไทยพัฒนาการจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบ DG เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

คุณมองภาพธุรกิจ BGRIM ในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง?

การรักษาแก่นแห่งคุณค่าและวิสัยทัศน์ในการมอบพลังงานให้กับโลกด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า พนักงานหรือผู้ถือหุ้น สืบสานการรับรู้ของสาธารณชนว่า BGRIM เป็นบริษัทที่อยู่ระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมในฐานะนักพัฒนาพลังงานที่แท้จริง